บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ โรงพยาบาล หรือหน่วยงานรัฐราชการ เป็นเส้นทางอาชีพที่ผู้จบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักจะเลือกเดินหลังก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งธุรกิจในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลย
นั่นก็คือ Contract Research Organization (CRO) หรือผู้ให้บริการวิจัยทางคลินิก สายงานนี้คืออะไร มีอนาคตความก้าวหน้าและโอกาสการเติบโตในอาชีพมากขนาดไหน จะมีจุดเด่นที่แตกต่างจากการทำงานในธุรกิจอื่น ๆ ข้างต้นอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
Contract Research Organization คืออะไร
สำหรับน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยม นักศึกษา หรือใครที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับผู้เล่นคนสำคัญในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการแพทย์ Contract Research Organization (CRO) คือ องค์กรที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินการค้นคว้าวิจัยหรือทดสอบตัวยาและวัคซีนประเภทต่าง ๆ ตามสัญญา
หลังจากที่องค์กรผู้ผลิตยาสามารถพัฒนาวิธีการรักษาโรคนั้น ๆ ได้จนเป็นที่น่าพอใจ แล้วต้องการทดสอบทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาชนิดนั้น ๆ ก็มักจะจ้างวานให้ Contract Research Organization ช่วยจัดการวิจัยและทดลองตัวยาในคน เพื่อให้บริษัทสามารถวางจำหน่ายและนำผลิตภัณฑ์ไปใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบและจรรยาบรรณวิชาชีพ
Contract Research Organization มีทั้งความเชี่ยวชาญและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือการวิจัยและบุคลากรมากประสบการณ์ ดังนั้นจึงสามารถแบ่งเบาภาระงานด้านนี้ให้แก่องค์กรผู้ผลิตยาได้เป็นอย่างดี ช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนในการเฟ้นหาพนักงาน บริหารจัดการโปรเจกต์ เก็บรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล และขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากมายในกระบวนการผลิตยา
5 ข้อดีของการทำงานใน Contract Research Organization
จะเห็นได้ว่า Contract Research Organization หรือผู้ให้บริการวิจัยทางคลินิก นับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมการแพทย์เคียงข้างบริษัทผู้ผลิตยาและหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การทำงานในธุรกิจนี้ยังมีข้อดีและจุดเด่นอยู่มากถึง 5 ประการด้วยกันที่แตกต่างจากอาชีพในแวดวงเภสัชศาสตร์ด้านอื่น ๆ
- ความมั่นคงสูงเพราะเป็นธุรกิจแห่งโลกอนาคต
ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แนวโน้มการเติบโตและการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณทันที ธุรกิจงานวิจัยทางคลินิกหรือ Clinical Trials จึงมีอนาคตที่สดใสตามไปด้วย โดยคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ย (CAGR) ถึงปีละ 5% และมีมูลค่าแตะ 1.6 พันล้านบาทภายในปี 2026
ดังนั้นการทำงานในองค์กร Contract Research Organization จึงเต็มไปด้วยโอกาสความก้าวหน้า พร้อมความมั่นคงในอาชีพ ไม่ต้องกังวลว่าจะตกงานหรือถูกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มาทดแทนในภายภาคหน้าแต่อย่างใด
- อยู่แถวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เสมอ
เนื่องจาก Contract Research Organization ได้ช่วยวิจัยเวชภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายให้กับบริษัทยาและองค์กรการแพทย์หลากหลายแห่ง ทั้งในและนอกประเทศไทย จึงมีโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่ก่อนใครอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
นอกจากนี้ ธุรกิจการให้บริการวิจัยทางคลินิกยังต้องหมั่นปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีและคอยพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งในที่นี้คือบริษัทผู้ผลิตยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก หากใครชอบความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด รักการเรียนรู้ และชอบพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกวัน การทำงานสายนี้ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย
- ได้ความรู้และประสบการณ์มากมายอย่างรวดเร็ว
การทำงานใน Contract Research Organization ทำให้คุณได้ติดต่อพูดคุย ช่วยเหลือ เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างใกล้ชิดกับลูกค้าที่เป็นบริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกหลากหลายแห่ง ซึ่งนับเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่สามารถเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะทั้ง Soft Skill เช่น การเจรจาต่อรอง และ Hard Skill เช่น การวิจัย ของตัวเองจนเชี่ยวชาญได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
แทนที่คุณจะทำงานหลายปีเพื่อค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมด้านการแพทย์เพียงแค่โปรเจกต์เดียว การทำงานกับ Contract Research Organization ช่วยให้คุณได้สำรวจความต้องการของตัวเอง ทดลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนายารักษาหลายแขนงเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วโลกอีกด้วย
- เงินเดือนและผลตอบแทนค่อนข้างสูง
สายอาชีพในแวดวง Contract Research มักให้เงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ สูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ หากอ้างอิงข้อมูลจาก Glassdoor ซึ่งเป็นเว็บไซต์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจ้างงานระดับโลกแล้วจะพบว่า เงินเดือนของอาชีพในธุรกิจนี้มักจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาทขึ้นไปตามแต่ประสบการณ์
ยกตัวอย่าง เช่น เงินเดือนของตำแหน่งผู้ประสานงานวิจัย (Clinical Research Coordinator: CRC) และ ผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (Clinical Research Associate: CRA) ในบริษัท Contract Research หลายแห่งสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ 30,000 บาท ไปจนถึงประมาณ 100,000 บาทได้เลยทีเดียว
- มีโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งไว
ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาในข้อ 2 และ 3 ส่วนใหญ่แล้วคุณจึงมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างรวดเร็วมากกว่าการทำงานในบริษัทผู้ผลิตยาหรือหน่วยงานราชการด้านสาธารณสุข
หลังจากได้ดูแลโปรเจกต์มากมายและวิจัยการรักษารูปแบบใหม่จนประสบความสำเร็จภายในเวลาไม่กี่ปี คุณก็อาจได้เลื่อนตำแหน่งไปตามสายงานที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้นำทีมอย่าง Manager หรือเป็นนักวิจัยอาวุโสระดับ Senior เป็นต้น นอกจากนี้ หากคุณพบว่าจริง ๆ แล้วตัวเองสนใจโรคแขนงใดแขนงหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น อายุรศาสตร์โรคหัวใจ (Cardiology) ก็ยังสามารถนำประสบการณ์อันหลากหลายไปย้ายสายงานได้ง่ายกว่าอีกด้วย
ร่วมงานกับ Clinixir เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย
หากการทำงานใน Contract Research Organization ฟังดูน่าตื่นเต้นสำหรับคุณ เราอยากขอชวนเพื่อน ๆ ทั้งจากสายเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่สนใจให้มาร่วมงานกับ Clinixir เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยไปด้วยกัน
เราเป็น Contract Research Organization อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึง Bualuang Ventures บริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยชื่อดัง 8 แห่งของไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น วัฒนธรรมการทำงานที่นี่มีกลิ่นอายคล้ายบริษัท Startup ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ จากพนักงานทุกระดับ และยังได้ประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือให้คุณเก่งขึ้นในทุก ๆ วัน
หากนักศึกษาหรือเพื่อน ๆ คนไหนสนใจมาช่วยกันยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยร่วมกับ Clinixir ก็สามารถส่งประวัติการทำงาน (CV) มาที่อีเมล hr@clinixir.com ได้เลย นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามเฟซบุ๊ก และ LinkedIn ของเราเพื่ออัปเดตข่าวสารและตำแหน่งงานที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ได้ด้วย