5 ข้อที่คุณต้องรู้ก่อนทำงานในอาชีพผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (CRA)

5 things you need to know before starting a career in clinical research

อาชีพในอุตสาหกรรมยาที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดและได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก คือ ผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (CRA) นั่นเอง วันนี้ Clinixir รวบรวมสิ่งที่ควรรู้ 5 ข้อเกี่ยวกับตำแหน่งนี้มาให้ทุกคนแล้ว จะมีอะไรบ้าง หาคำตอบได้ด้านล่างเลย

1. อาชีพผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก หรือ Clinical Research Associate (CRA) คืออะไร

ผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (CRA) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมยา โดยรับหน้าที่ควบคุมดูแล ตรวจสอบ และติดต่อประสานงานให้การพัฒนาและวิจัยยาในคน หรือการวิจัยทางคลินิก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ส่วนใหญ่แล้วตำแหน่ง CRA จะเป็นพนักงานในบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ เช่น Johnson & Johnson หรือ Pfizer แต่ก็ยังสามารถขยับออกมาจากการทำงานให้องค์กรเดียว สู่การเป็น CRA ในบริษัทผู้รับวิจัยทางคลินิก หรือ Contract Research Organization (CRO) ที่จะได้เป็นฝ่ายช่วยทดลองเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในคนให้กับบริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งจากทั่วโลกนั่นเอง

2. ความรับผิดชอบและเนื้องานในแต่ละวันของ CRA เป็นอย่างไร

หนึ่งในจุดเด่นของอาชีพผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก คือ การไม่ต้องนั่งทำงานอยู่แค่เพียงในออฟฟิศของตัวเองเท่านั้น เพราะ CRA จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานที่วิจัยทางคลินิก หรือที่เรียกกันว่า Site อยู่บ่อยครั้งเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและประสานงานกับคณะแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทดลองยาในผู้ป่วยให้กับเรา 

ทั้งนี้ ความรับผิดชอบของ CRA เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำความเข้าใจในโครงร่างการวิจัย หรือ Protocol อย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจว่าผู้ผลิตเวชภัณฑ์นั้น ๆ ต้องการทำวิจัยแบบไหน หรือมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ป่วยอย่างไรให้มาเข้าร่วมการทดลอง เป็นต้น จากนั้น CRA จะเดินทางไปพูดคุยกับแพทย์ของแต่ละ Site เพื่อคัดเลือกสถานที่วิจัยยาที่เหมาะสมที่สุดกับโปรเจกต์นั้น

ต่อมา เมื่อการวิจัยทางคลินิกเริ่มขึ้น CRA ก็จะต้องเดินทางเข้าไปตรวจสอบที่ Site ว่าโครงการได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องตาม Protocol หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูลต่าง ๆ ในกระบวนการวิจัยที่จะเกี่ยวพันกับการประเมินประสิทธิภาพของยาตัวนั้น ๆ หากเกิดปัญหาหรือเหตุขัดข้องอะไร CRA ก็จะช่วยแก้ไข ก่อนจะจดบันทึกและเขียนรายงานความคืบหน้าของโครงการ

3. เงินเดือนค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในอาชีพ CRA

ข้อมูลจาก Glassdoor เว็บไซต์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจ้างงานระดับโลก พบว่า รายได้ของอาชีพผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก (CRA) ในกรุงเทพฯ นั้นจะอยู่ที่ระหว่าง 30,000 บาทต่อเดือนไปจนถึงมากกว่า 100,000 บาทได้เลยทีเดียวหากสั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมานานหลายปี

นอกจากนี้ การทำงานในธุรกิจรับวิจัยทางคลินิก หรือ Contract Research Organization (CRO) ยังมอบโอกาสให้คุณก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่าการทำงานในบริษัทผู้ผลิตยา หรือหน่วยงานราชการด้านสาธารณสุข เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวความรู้ระหว่างทำงานในตำแหน่ง CRA มาได้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว คุณก็สามารถได้รับการปรับตำแหน่งสูงขึ้นเป็นพนักงานระดับอาวุโส (Senior) หรือแม้กระทั่งย้ายสายงานไปยังศาสตร์ที่สนใจ เช่น พัฒนายารักษาสำหรับโรคเกี่ยวกับระบบประสาทโดยเฉพาะ เป็นต้น

4. ต้องเรียนจบทางด้านไหนหรือเข้าคอร์สอะไรถึงจะทำงานเป็น CRA ได้

ส่วนใหญ่แล้วการจะเข้ามาทำงานในตำแหน่ง CRA ได้อย่างราบรื่นนั้นควรจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาจากสายวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น คณะแพทย์ศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นต้น

คุณยังสามารถลงเรียนคอร์สออนไลน์กับสถาบันระดับโลก เช่น Coursera หรือทดสอบความรู้ของตัวเองเพื่อรับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพที่สามารถเพิ่มโอกาสในการสมัครงานได้จากองค์กรที่น่าเชื่อถือ เช่น Association of Clinical Research Professionals (ACRP) หรือ Society of Clinical Research Associates (SOCRA) 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถสมัครเข้าร่วมฝึกฝนการเป็น CRA และรับใบ Certification จากองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรม เช่น โครงการ CRA Academy ของ Clinixir ซึ่งผ่านการรับรองจาก Accreditation Council For Clinical Research & Education และพร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักศึกษาและเด็กจบใหม่ที่ฝันอยากเติบโตในสายงาน CRA (ติดตามเฟซบุ๊กของเราเพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับคอร์สนี้ คลิก)

5. ทักษะสำคัญที่ควรมีในการทำงานตำแหน่ง CRA

5.1 ทักษะสำคัญอันดับแรกที่ตำแหน่ง CRA ต้องมี คือ ความเข้าใจในกระบวนการวิจัยและพัฒนายารักษาและเวชภัณฑ์ การดำเนินงานภายในห้อง Lab การอ่านข้อมูลและตัวชี้วัดต่าง ๆ ในการวิจัยทางคลินิก รวมไปถึงหมั่นติดตามข่าวสารและใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ

5.2 อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ การติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในรูปแบบการเขียนและการพูดคุย เพราะ CRA ต้องประสานงานร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ร่วมงาน แพทย์ประจำสถานที่วิจัย (Site) บริษัทผู้ผลิตยาที่ว่าจ้างให้ CRO ดำเนินการทดลองทางคลินิกให้ เป็นต้น

5.3 ต่อมา คือ ทักษะภาษาอังกฤษทั้งการพูดและการเขียน ที่แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญถึงระดับ Native แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเขียนรายงานการวิจัยทางคลินิก ตอบอีเมล อ่านเอกสารและข้อมูลการวิจัยที่มักเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงติดต่อพูดคุยกับตัวแทนของบริษัทยาจากต่างประเทศ (Sponsor) เป็นต้น

5.4  มีความเป็นระเบียบ สามารถวางแผนบริหารจัดการงานต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญได้ดี เพราะ CRA ต้องควบคุมดูแลและคอยประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องมากมายให้การวิจัยทางคลินิกสำเร็จลุล่วงตามกำหนด คุณมักจะต้องพบเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันหน้างานและพร้อมเสนอทางแก้เพื่อให้งานดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น


ร่วมงานกับ Clinixir เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย

หากการทำงานเป็นผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก หรือ Clinical Research Associate (CRA) ฟังดูน่าตื่นเต้นสำหรับคุณ เราอยากขอชวนเพื่อน ๆ ทั้งจากสายเภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงอาชีพอื่น ๆ ที่สนใจให้มาร่วมงานกับ Clinixir เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยไปด้วยกัน

เราเป็น Contract Research Organization อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึง Bualuang Ventures บริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ และ มหาวิทยาลัยชื่อดัง 8 แห่งของไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น 

วัฒนธรรมการทำงานที่นี่มีกลิ่นอายคล้ายบริษัท Startup ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ จากพนักงานทุกระดับ และยังได้ประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารที่พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยเหลือให้คุณเก่งขึ้นในทุก ๆ วัน

หากนักศึกษาหรือเพื่อน ๆ คนไหนสนใจมาช่วยกันยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยร่วมกับ Clinixir ก็สามารถส่งประวัติการทำงาน (CV) มาที่อีเมล hr@clinixir.com ได้เลย นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามเฟซบุ๊ก และ LinkedIn ของเราเพื่ออัปเดตข่าวสารและตำแหน่งงานที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ได้ด้วย

ออฟฟิศของ Clinixir ตั้งอยู่ใน Asia Centre
เดินทางสะดวกใกล้รถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรีใจกลางย่านสีลม
งานเลี้ยงปีใหม่ 2021 ของ Clinixir เรื่องเล่นเราก็จริงจังไม่แพ้เรื่องงาน

Share:

Related Research Updates